เมนู

ศาสดาเหล่านั้นกล่าวไว้. บทว่า สุสฺสูสนฺติ ความว่า มีใจแช่มชื่นตั้งใจ
ฟังอย่างดี เพราะมีอักษรวิจิตร และสมบูรณ์ด้วยบท. บทว่า น เจว
อญฺญมญฺญํ ปฏิปุจฺฉนฺติ
ความว่า มิได้ถามเนื้อความ อนุสนธิ หรือ
เบื้องต้นเบื้องปลายกัน และกัน. บทว่า น ปฏิวิจรนฺติ ความว่า มิได้
เที่ยวไปไต่ถาม. บทว่า อิทํ กถํ ความว่า พยัญชนะนี้ พึงเข้าใจอย่างไร
คือพึงเข้าใจว่าอย่างไร. บทว่า อิมสฺส กฺวตฺโถ ความว่า ภาษิตนี้มีเนื้อ
ความอย่างไร มีอนุสนธิอย่างไร มีเบื้องต้นและเบื้องปลายอย่างไร บทว่า
อวิวฏํ ได้แก่ ที่ยังปกปิด. บทว่า น วิรรนฺติ ได้แก่ไม่เปิดเผย บทว่า
อนุตฺตานีกตํ ได้แก่ที่ไม่ปรากฏ. บทว่า น อุตฺตานีกโรนฺติ ความว่า
มิได้ทำให้ปรากฏ. บทว่า กงฺขาฏฺฐานีเยสุ ได้แก่ อันเป็นเหตุแห่งความ
สงสัย. ฝ่ายขาว ก็พึงทราบตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
จบอรรถกถาสูตรที่ 6

สูตรที่ 7



ว่าด้วยบริษัททมี่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม และบริษัทที่หนัก

ในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส



[293] 47. ดูก่อนภิกษุทั้งหลายบริษัท 2 จำพวกนี้ 2 จำพวก
เป็นไฉน คือบริษัทที่หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม 1 บริษัทที่หนัก
ในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส 1 ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่หนัก
ในอามิส ไม่หนักในสัทธรรมเป็นไฉน ภิกษุบริษัทใดในธรรมวินัยนี้
ต่างสรรเสริญคุณของกันและกันต่อหน้าคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวว่า ภิกษุ
รูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้นเป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขี

รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็นสัทธาวิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี
รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นมีศีล มีกัลยาณธรรม รูปโน้นทุศีล มีธรรม
เลวทราม เธอต่างได้ลาภด้วยเหตุนั้น ครั้นได้แล้ว ต่างก็กำหนัดยินดี
หมกมุ่นไม่เห็นโทษ ไร้ปัญญาเป็นเหตุออกไปจากภพบริโภคอยู่ ดูก่อน
ภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่าบริษัทผู้หนักในอามิส ไม่หนักในสัทธรรม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็บริษัทที่หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิสเป็นไฉน
ภิกษุในบริษัทใดในธรรมวินัยนี้ ต่างไม่พูดสรรเสริญคุณของกันและกัน
ต่อหน้าคฤหัสถ์ผู้นุ่งห่มผ้าขาวว่า ภิกษุรูปโน้นเป็นอุภโตภาควิมุต รูปโน้น
เป็นปัญญาวิมุต รูปโน้นเป็นกายสักขี รูปโน้นเป็นทิฏฐิปัตตะ รูปโน้นเป็น
สัทธาวิมุต รูปโน้นเป็นธัมมานุสารี รูปโน้นเป็นสัทธานุสารี รูปโน้นมีศีล
มีกัลยาณธรรม รูปโน้นทุศีลมีธรรมเลวทราม เธอต่างได้ลาภด้วยเหตุนั้น
ครั้นได้แล้วก็ไม่กำหนัดไม่ยินดีไม่หมกมุ่น มักเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเหตุ
ออกไปจากภพบริโภคอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัทนี้เรียกว่า บริษัทผู้
หนักในสัทธรรม ไม่หนักในอามิส ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บริษัท 2 จำพวก
นี้แล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาบริษัท 2 จำพวกนี้ บริษัทที่หนักใน
สัทธรรม ไม่หนักในอามิสเป็นเลิศ.
จบสูตรที่ 7

อรรถกถาสูตรที่ 7



ในสูตรที่ 7 มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า อามิสครุ ได้แก่ หนักในปัจจัย 4 คือเป็นบริษัทที่ถือ
โลกุตรธรรมเป็นของทรามดำรงอยู่. บทว่า สทฺธมฺมครุ ได้แก่ เป็น